อินเดีย : โศกนาฏกรรมของการพัฒนา


โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com

ในหลายๆ แง่มุม การดำรงตนของคนอย่าง พรินเซส ชาห์นาซ ฮุสเซน คือกระจกสะท้อนของสังคมอินเดียในเวลานี้ได้อย่างเอกอุ

ชาห์นาซ ฮุสเซน ได้ชื่อว่าเป็น "ดีวา" แห่งวงการเครื่องสำอางของประเทศ เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้าง "แบรนด์" ระดับโลกของธุรกิจอินเดีย เป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จ ที่ยังผลออกมาในรูปของความมั่งคั่งแบบ รวยแล้วรวยอีก


รวยจนเหลือเชื่อ มั่งคั่งมากมายมหาศาลจนทำให้บางคนอยาก "วิกลจริต"...

เธอเป็นเจ้าของแบรนด์ "พรินเซส ชาห์นาซ" ที่ครอบคลุมถึงสถานเสริมความงามมากกว่า 400 แห่งทั่วอินเดีย และอีกหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก ชื่อนี้และภาพของชาห์นาซติดอยู่บนภาชนะบรรจุเครื่องหอม ครีมประทินผิวกับแชมพู "สมุนไพร" และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เธออ้างว่ามาจาก "พืชอายุรเวช"

เธอขายผลิตภัณฑ์ราคาแพงของตนเองใน "ตลาดระดับบน" ไม่เพียงในอินเดียแต่ยังหมายถึงอีกหลายเมืองหลวงของโลก ตั้งแต่ "ลอนดอน" ไปจนจรด "โตเกียว"

พรินเซส ชาห์นาซ และบริษัทของเธอ ถูกพาดพิงถึงครั้งแล้วครั้งเล่าในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ "มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ" แห่งอินเดีย

ชาห์นาซเกิดในตระกูลเศรษฐี มีพ่อเป็นผู้พิพากษา มารดานั้นว่ากันว่าเป็น "เจ้าหญิง" ของ "มหาราชา" องค์ใด

องค์หนึ่ง กระนั้น ความมั่งคั่งที่เธอสร้างจากความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ก็แสดงให้เห็นถึงผลพวงของการเติบใหญ่ขยายตัวของ "ชนชั้นกลาง" ในอินเดียอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

ชาห์นาซเป็นมุสลิม ชนกลุ่มน้อยในอินเดีย กระนั้น วัตรปฏิบัติบางประการก็เป็นไปตามคติฮินดู ที่ใช้ "ทาน" เป็นเครื่องมือในการสร้างสุขให้หลังละสังขารไปจากโลกนี้ อันเป็นไปในท่วงทำนองเดียวกันกับพฤติกรรมของ "นูโว ริช-เศรษฐีใหม่" อีกหลายต่อหลายคนในอินเดีย

"โรลส์-รอยซ์" สีเงินยวง ของเธอจึงตกเป็นเป้าหมายรุมล้อมของ "ขอทาน" ในทุกๆ สี่แยกที่โชเฟอร์พาเธอตระเวนไปตามท้องถนนในอินเดีย

"พวกเขาจำได้ คุ้นเคยกับรถฉันดี" เธอบอก "แล้วฉันก็มีสองสามรูปีติดไม้ติดมือไปด้วยทุกครั้งเหมือนกัน"

เมื่อเร็วๆ นี้-เธอเล่า เธอช่วยชายพิการไร้ขารายหนึ่งที่นั่งขอทานอยู่ตรงป้อมไฟจราจร จัดการหางานให้เขาทำที่ร้านขายเครื่องสำอางสาขาหนึ่ง "ให้เป็นยามตรงประตูหน้า" เพราะ "เขาจะได้นั่งทำงานได้"

ในทรรศนะของพรินเซส ชาห์นาซ ฮุสเซน ความยากจนไม่ใช่ปัญหาพิเศษพิสดารอะไรสำหรับอินเดีย

"ทำไม? ที่ไหนๆ ก็มีขอทาน ทั่วโลกมีกันทั้งนั้น ไม่เว้นกระทั่งในลอนดอนหรือปารีส"!

อินเดียกับจีน ไม่เพียงจัดว่าเป็นสองประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกในระดับใกล้เคียงกันเท่านั้น (อินเดีย 1,200 ล้านโดยประมาณ ส่วนจีนราว 1,300 ล้าน) ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจในหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมารุดหน้าอย่างยิ่ง จนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน ที่เรียกว่า "บริคส์ คันทรี่" (บี-บราซิล, อาร์-รัสเซีย, ไอ-อินเดีย, ซี-จีน และเอส-แอฟริกาใต้)

กระนั้นความต่างอย่างสำคัญประการหนึ่งระหว่างพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียก็คือ ในขณะที่การพัฒนาของจีนสามารถยกระดับความยากจนของคนนับเป็นหลายร้อยล้านคนขึ้นพ้นทุกข์เข็ญได้ พัฒนาการของอินเดียกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

รายงานการวิเคราะห์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุเอาไว้ว่า อินเดียยิ่งพัฒนา ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยยิ่งถ่างกว้างมากยิ่งขึ้นทุกที

ช่องว่างดังกล่าวที่อินเดีย ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก เร็วกว่าที่ประเทศไหนๆ

ในขณะที่จีนยังคงมีประชากรที่อยู่ในระดับความยากจน หรือระดับที่มีรายได้ต่อวันไม่เกิน 1.25 ดอลลาร์ (ราว 37-38 บาทต่อวัน) อยู่มากไม่ใช่น้อยคือ 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศเมื่อปี 2008 แต่ตัวเลขของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ระบุเอาไว้ว่า สัดส่วนของคนยากจนในอินเดียกลับมีสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ (ตัวเลขเมื่อปี 2010) ส่วนตัวเลขล่าสุดของ บราซิล ก็คือ 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้นเอง (ตัวเลขปี 2009)

โออีซีดีวิเคราะห์พัฒนาการของคนในระดับล่างของทั้ง 3 ประเทศ คิดเฉพาะรายได้ครัวเรือนของประชากรยากจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศว่าพัฒนาเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดในช่วงระหว่างปี 2000-2008 พบว่า ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของคนจนที่สุดของบราซิลมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวถึง 6.6 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับของจีนที่เพิ่มมากที่สุดที่ 8.5 เปอร์เซ็นต์

แต่คนอินเดียที่ยากจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในช่วงระยะเวลา 8-9 ปี!

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ตรวจสอบแล้วได้ข้อสรุปว่า หนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของอินเดียคือ มัธยประเทศ รัฐตอนกลางของอินเดีย

ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นบอกว่า ระดับความยากจนของมัธยประเทศ เทียบเคียงอยู่ได้ในระดับเดียวกันกับความยากจนของประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ประเทศในแอฟริกากลางที่เกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน

ที่เลวร้ายยิ่งกว่าก็คือ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าหยิบเอาเฉพาะภาวะทุพโภชนาการมาเปรียบเทียบกัน มัธยประเทศของอินเดีย จะเลวร้ายยิ่งกว่าในดีอาร์คองโกด้วยซ้ำไป!

นี่คือโศกนาฏกรรมของการพัฒนาอย่างแท้จริง

อะทุล โคห์ลี นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ที่สอนการเมืองการปกครองอยู่ที่มหาวิทยาลัยปรินซตัน ประเทศอังกฤษ เจ้าของผลงานหนังสือที่เรียกความสนใจได้ทั่วโลกชื่อ "โพเฟอร์ตี้ อามิด เพลนตี้ อิน นิว อินเดีย" สรุปเอาไว้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของอินเดีย ที่เริ่มต้นในทศวรรษ 1980 นั้น ไม่ได้ช่วยลดความยากจน หรือลดจำนวนคนยากจนลง

มันผ่านเลยกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดของประเทศไปอย่างหน้าตาเฉย

ความมั่งคั่งไหลเลยผ่านหน้าไปใกล้-ใกล้ ชนิดเอื้อมมือถึง แต่หยิบจับ ฉกฉวยมาเป็นของตัวเองไม่ได้สักที

คนที่สามารถได้ประโยชน์จากมัน มีเพียงกลุ่มเดียว นั่นคือคนที่มีการศึกษาดี พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วชัดเจน คนที่เรียนรู้และชำนิชำนาญในทางด้านไอที คนที่สามารถทำงานใน "คอลเซ็นเตอร์" ได้

แต่ไม่ใช่คนอย่าง "แชงการ์ ซิงห์" ทั้งๆ ที่เขาทำงานอยู่ห่างออกไปจากเคหาสน์หรูหราของพรินเซส ชาห์นาซ เพียงไม่กี่ช่วงตึกเท่านั้นเอง

แชงการ์ ซิงห์ วัย 53 ปี ทำหน้าที่เป็นยามอยู่ที่ "แพนช์ ชีล ปาร์ค" ชุมชนขนาดย่อม ที่เป็นอาณาเขตของนักธุรกิจมหาเศรษฐี ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงกับช่องประตู

เจ้านายของแชงการ์ สั่งสมความร่ำรวยมหาศาลจากกิจการขายสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ตกแต่งในห้องน้ำ แต่แชง การ์กับภรรยาและลูกๆ 6 คน ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมด้านนอกกำแพงและประตูเหล่านั้น ในพื้นที่ที่สุนัขจรจัดและวัวเดินเตร็ดเตร่เพ่นพ่านไปมา คุ้ยเขี่ยหาสิ่งของประทังชีวิตจากขยะและของเหลือใช้ของเศรษฐีใหม่ทั้งหลาย

ชุมชนโดยรอบแพนช์ชีล ปาร์ค เป็นที่อยู่ของบรรดาคนสวน กุ๊ก โชเฟอร์ สาวใช้ต้นห้อง และยามของบรรดาเหล่า "นูโว ริช"

ที่นี่อาจจะดีกว่าสลัมในนิวเดลีที่มีอยู่มากมายเล็กน้อย แต่ความหวั่นวิตกที่จำหลักอยู่ในใจมากมายไม่แพ้กัน พวกเขาหวั่นกลัวอยู่เสมอมาว่าอาจตกกลับไปอยู่ในภาวะ "สิ้นไร้ไม้ตอก" อีกครั้ง ถ้าหากป่วย หรือมีเหตุอันเป็นไป ถูกไล่ออกจากหน้าที่การงานที่ทำอยู่

บ่ายจัด แชงการ์เตรียมตัวสำหรับการทำหน้าที่ยามผลัดกลางคืนอยู่ภายในห้องพักไร้หน้าต่างของตัวเองผนังด้านหนึ่งติดตั้งหิ้งบูชาเทพเจ้าตามคติฮินดู

แชงการ์บูชา "พระศิวะ" เทพแห่งมงคล ผู้จักอำนวยความรุ่งเรืองและโชคลาภมาให้ผู้ที่ถวายสักการะ

จนกระทั่งถึงขณะนี้ แชงการ์ ซิงห์ ยังคงรอคอยวันแห่งโชคของตนเอง วันแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกผันชีวิตจากห้องเช่าแคบเล็ก ไม่มีกระทั่งอ่างล้างหน้าเป็นของตัวเอง เขากับลูกชายต้องระเห็จออกมาอาบน้ำหน้าบ้านทุกๆ เช้า เปิดโอกาสให้ภรรยากับลูกสาวใช้ห้องน้ำเล็กๆ เพื่อการอย่างเดียวกัน

น้ำไหลเป็นเวลา จำกัดเฉพาะระหว่างตี 3 ถึง 6 โมงเช้าเท่านั้น หากจำเป็นต้องใช้น้ำหลังเวลาดังกล่าว ต้องมีภาชนะสำรองน้ำเอาไว้

พื้นเพของแชงการ์มาจากอุตรประเทศ รัฐทางเหนือของอินเดีย เขามาที่นี่ตั้งแต่เมื่อ 32 ปีก่อน พกพาความฝันเต็มเปี่ยมถึงชีวิตที่ดีกว่า ที่ไม่เพียงเป็นความคาดหวังของตนเองหากแต่ครอบคลุมถึงทุกผู้คนในครอบครัว และญาติๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้เมืองโกรัขปุระที่อยู่ห่างจากลัคเนา เมืองเอกของอุตรประเทศไปราว 4 ชั่วโมงบนรถยนต์อีกด้วย

"อุตรประเทศ" เป็นอีกหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุด ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ "ติดกับ" อยู่กับขนบประเพณีดั้งเดิมของการเป็น "ข้าติดที่ดิน" ของเจ้าของที่ขนาดใหญ่ทั้งหลาย เมื่อผสมผสานกับความเข้มงวด เข้มข้นของการกำหนดชนชั้นวรรณะ และศาสนา ยิ่งทำให้การพัฒนาไปสู่ความทันสมัยเหมือนเดินชนเข้ากับกำแพงอุปสรรคมหึมาที่นี่

กำแพงที่ไม่เพียงกางกั้นความทันสมัยเอาไว้ ยังกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการไต่เต้าขึ้นบันไดทางสังคมเพื่อไล่ให้ทันบรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐีทั้งหลายของคนยากจนที่นี่

แชงการ์ไม่ได้เดินทางกลับบ้านมากว่า 7 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ยอมรับว่า เขายังคิดถึงกระท่อมมุงหญ้า และทุ่งมัสตาร์ด ที่เหลืองสะพรั่งเมื่อออกดอกประชันกันที่นั่นเหลือหลาย

เขากลับไม่ได้ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับการเดินทางที่ว่านั้น

แชงการ์มีรายได้เดือนละ 8,000 รูปี (ราว 4,300 บาท) 1 ใน 4 ของเงินทั้งหมดคือ 2,000 รูปี กลายเป็นค่าเช่าบ้านพัก ส่วนที่เหลือทั้งหมดคือเครื่องยังชีพของทุกคนในครอบครัว

เขาไม่มีเงินแม้กระทั่งจะประกอบพิธีบัดพลีถวายพระศิวะ ในห้วงเวลาแห่งเทศกาลทิวาลี เพื่อเฉลิมฉลองแสงแห่งทิวาตามคติฮินดู

ปีแล้วปีเล่า แชงการ์ได้แต่เฝ้ามองด้วยความทึ่งในความใหญ่โตโอฬาร วิจิตรพิสดารมากขึ้นในแต่ละปี ของประดาดอกไม้ไฟ และพลุหลากสีที่บรรดาเศรษฐีแห่ง แพนช์ชีล ปาร์ค จัดขึ้นเพื่อถวายสักการะต่อศิวะเทพ

หรือเพราะเหตุนี้ เขาจึงยังคงเป็น แชงการ์ ซิงห์ อยู่เช่นทุกวันนี้!?

ปี2005 อินเดียตรากฎหมาย รับประกันการจ้างงานในชนบทแห่งชาติ (เอ็นอาร์อีจีเอ) ขึ้นมา เนื้อหารับประกันว่า แรงงานเต็มวัยทุกคนในประเทศต้องได้รับการจ้างงานอย่างน้อย 100 ชั่วโมงต่อปี

เพื่อให้เป็นไปตามนั้น รัฐบาลใช้เงินเพื่อปรับปรุงถนนหนทาง สร้างสะพานใหม่ๆ ไปมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากนั้น ยังมีโครงการปันส่วนอาหารเพื่อคนยากจนและการอุดหนุนในอีกหลายรูปแบบจากรัฐ

ปัญหาก็คือ เงินเหล่านี้มีน้อยมากที่ถึงมือคนที่ต้องการจริงๆ ส่วนใหญ่หากไม่ใช่ตกอยู่ในมือนักการเมืองฉ้อฉล ก็ตกอยู่ในมือของคนกลางที่คอร์รัปชั่น นั่นเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องหันมาใช้วิธีการ "ผันเงิน" ออกไปโดยตรงตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

กระนั้น อินเดียก็ยังล้าหลัง บราซิล และจีน ในเรื่องนี้อยู่มากมายนัก ตัวเลขงบประมาณ "ทางสังคม" จากการสำรวจของโออีซีดี เมื่อปี 2007 พบว่า บราซิลใช้จ่ายเงินเพื่อการนี้สูงถึง 16.3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จีนอยู่ที่ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อินเดียมีงบประมาณทางสังคมเพียง 4.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

นอกเหนือจากนั้น ยังมีอีกหลายต่อหลายคนที่อยู่ในสภาพของ แชงการ์ ซิงห์ ที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากโครงการความช่วยเหลือใดๆ รายได้ที่เขามี สูงเกินกว่าขีดกำหนดที่จะได้รับความช่วยเหลือ

แต่ยังไม่เพียงพอต่อการช่วยให้เขาดิ้นหนีออกจากกับดักความยากจนอยู่นั่นเอง

อินเดียจึงยังคงเป็นอินเดียอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ คนที่ยากจนก็ยิ่งยากจนลง คนที่มั่งคั่งก็ยิ่งทวีความร่ำรวยด้วยทรัพย์ศฤงคารกันต่อไป

ชนิดต้อง "คิดค้น" วิธีการใหม่ๆ แปลกๆ ต่างๆ นานากันออกมาเพื่อ "ใช้เงิน" ที่มีอยู่

ดิจิต ตีตุส เพื่อนบ้านมหาเศรษฐีของแชงการ์ เลือกวิธีการ "สะสม" รถโบราณ ตั้งแต่เชฟโรเลต เบล แอร์ ปี 1957 เรื่อยไปจนถึง บิวอิค 90 แอล จากทศวรรษ 1930 ของสะสมของเขายิ่งมายิ่งมาก จนถึงขนาดต้องมีโรงเก็บขนาดใหญ่รองรับ

นอกจากจะหาวิธีการจัดงานแสดงอวดรถโบราณร่วมกับบรรดา "มหาราชา" ทั้งหลายเป็นครั้งคราวแล้ว ก็ยังต้องเริ่มสะสมเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ล้ำค่า พร้อมกันไปด้วย

และแน่นอน ดิจิต ก็เป็นเช่นเดียวกับพรินเซส ชาห์นาซ เขาคิดถึงคนยากจน และไปเยือนสลัมบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่นั่นให้ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น

แต่เขายอมรับว่านั่น ไม่ใช่วิธีที่สามารถเปลี่ยนอินเดียได้

"มันเหมือนกับหยดน้ำ ที่หยดลงใส่มหาสมุทรอันไพศาลเสียมากกว่า"!

ที่มา:  http://www.matichon.co.th/

No comments:

Post a Comment