ประธานกูเกิ้ลดันอินเดียให้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น


ประธานกรรมการบริหารกูเกิล "เอริค ชมิดท์" เดินทางเยือนอินเดีย หวังผลักดันรัฐบาลแก้ปัญหาสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

การเดินทางเยือนอินเดียในครั้งนี้ของนายชมิดท์ เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้บริหารกูเกิลรายนี้ เพิ่งเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และมีกำหนดเดินทางเยือนพม่าในช่วงสุดสัปดาห์นี้

แม้อินเดียจะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อการพูดอย่างเสรี ต่าางระบุว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวที่ถดถอยลง และนักสังเกตการณ์กำลังจับบตาดูว่า นายชมิดท์จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ ตลอดระยะเวลาการเดินทางเยือนอินเดียช่วง 2-3 วันนี้

ปัญหาที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ถึงการจำกัดการแสดงความเห็นของอินเดีย รวมถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ที่รัฐบาลอินเดียได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้บริษัทผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ต้องแสดงความรับผิดชอบหากลูกค้าของบริษัทได้ลงข้อความที่ก้าวร้าว และในขณะนี้บางมาตราของกฎหมายดังกล่าว ยังถูกยื่นฟ้อง และกำลังพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกา ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาออกมา

เมื่อเดือนธันวาคม 2554 นายคาพิล สิบาล รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีในขณะนั้น ได้เรียกร้องให้ กูเกิล เฟซบุ๊ค และบริษัทอินเทอร์เน็ตรายอื่นๆ คัดกรองและนำข้อความที่ดูหมิ่นเหยียดหยามออกจากเว็บไซต์ โดยการเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกาลางความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่อเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่มีการล้อเลียนนายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ นางซอนญา คานธี หัวหน้าพรรคคองเกรส พรรครัฐบาลอินเดีย และแกนนำทางการเมืองรายอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของนักหนังสือพิมพ์ นายวินัย ไร ยื่นฟ้องคดีอาญาบริษัทอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ รวมถึง กูเกิล โดยกล่าวหาเว็บไซต์เหล่านี้ว่าปล่อยให้มีการลงเนื้อหาที่ทำลายชื่อเสียง อนาจาร และสนับสนุนให้คนต่างศาสนาและเชื้อชาติเกิดความไม่ลงรอยกัน

กูเกิลและบริษัทอื่นๆ ปฏิเสธถึงการกระทำความผิด ทั้งกูเกิล บอกด้วยว่า บริษัทไม่อนุญาตให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวอินเดียเข้าถึงข้อมูลอะไรก็ตามที่ละเมิดเงื่อนไขการให้บริการของกูเกิล และกฎหมายท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า นายชมิดท์ไม่น่าจะหยิบยกเรื่องคดีความที่กำลังอยู่ในชั้นศาลขึ้นมาพูดถึง แต่อาจจะใช้โอกาสนี้ ผลักดันให้อินเดียแก้ไขจุดยืนด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


No comments:

Post a Comment