พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka the great พ.ศ. 240 - พ.ศ. 312) ทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 270 - พ.ศ. 311 เป็นระยะเวลา 41 ปี ต่อจากพระเจ้าพินทุสาร พระบิดา พระราชมารดาคือ พระนางศิริธรรมาอัครมเหสี ส่วนพระมเหสี คือ พระนางเวทีสาคีรี มีพระราชโอรสและธิดารวม 11 พระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์โมริยะ ทรงปกครองแคว้นมคธ ที่มีราชธานีชื่อ ปาฏลีบุตร ปัจจุบันเรียกว่า ปัฏนะ (Patna)
เดิมทีพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่โหดร้าย ชอบการทำสงครามกับแว่นแคว้นต่าง ๆ จนได้รับสมญานามว่า "จัณฑาโศกราช" (พระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม) แต่หลังจากการรบที่แคว้นกาลิงคะ (ปัจจุบันอยู่รัฐโอริสสา) ทรงพบเห็นผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความสลดสังเวชในบาปกรรม ประกอบกับได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจาก นิโครธสามเณร และพระสมุทระในลำดับต่อมา จึงเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
ทำให้พระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนา และทรงกลายเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก์ ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองและแผ่ขยายไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ และทรงปกครองด้วยทศพิธราชธรรมอย่างแท้จริง ทำให้ภายหลังทรงได้รับพระราชสมัญญานามว่า "ธรรมาโศกราช" (พระเจ้าอโศกผู้ทรงธรรม)
พระองค์ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาท เช่น ทรงสร้างวัด วิหาร พระสถูป พระเจดีย์ หลักศิลาจารึก มหาวิทยาลัยนาลันทา ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงผนวชขณะที่ยังทรงครองราชย์อยู่ และยกเลิกการแผ่ขยายอำนาจในการปกครอง หันมาใช้หลักพุทธธรรม(ธรรมราชา)ปกครองแผ่นดินแทน นอกจากนี้พระเจ้าอโศกมหาราชยังทรงส่งสมณะทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศอินเดียและนอกประเทศ โดยแบ่งเป็น 9 สาย โดยเฉพาะสายที่ 8 นำโดยพระโสณะและพระอุตระ เป็นสมณะทูตมาเผยแพร่ที่สุวรรณภูมิ และพระองค์เป็นผู้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ณ วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร โดยใช้เวลาสอบสวนสะสางสำเร็จภายใน 9 เดือน
ทรงโปรดให้สร้างวัดทั้ง 84000 วัดและพระสถูปทั่วชมพูทวีป ทั้ง 84000 องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ และต่อมาก็ทรงโปรดเกล้าให้สร้างบ่อน้ำ ที่พักคนเดินทาง โรงพยาบาล และปลูกต้นไม้ เพื่อจัดสาธารณูปโภคและสาธารณ ตามหลักพุทธธรรม ต่อจากนั้นก็เสด็จไปพบสังเวชนียสถาน 4 แห่งเป็นพระองค์แรก และทรงสถาปนาให้เป็นสถานที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนในเวลาต่อมา ทั้งยังทรงอุปถัมภ์ผู้ที่นับถือศาสนาเชน โดยการถวายถ้ำหลายแห่ง เพื่อไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของทางศาสนาเชน
ทรงให้จารึกธรรมะที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 และหลักธรรมวิชัย คือการชนะจิตใจคนด้วยพระธรรม ทรงปักหลักเสาศิลาจารึก ณ พุทธสถานสำคัญๆต่างๆ ทำให้นักโบราณคดีได้ค้นพบพุทธสถานเหล่านั้นจำนวนมาก อีกทั้งประติมากรรมหัวเสาของพระเจ้าอโศกเป็นรูปสิงห์ 4 ตัวหันหลังชนกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียดัดแปลงมาใช้เป็นตราแผ่นดิน อีกทั้งยังทรงชำระสังฆมณฑล โดยจับพระปลอมสึกจำนวน 60000 รูป
นาย เอช. จี. เวลส์ (H.G.Wells) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญในตะวันตกก็ยกย่องพระเจ้าอโศกมหาราช ว่าทรงเป็นอัครมหาบุรุษท่านหนึ่ง ใน 6 อัครมหาบุรุษแห่งประวัติศาสตร์โลก อันได้แก่ พระพุทธเจ้า โสเครติส อริสโตเติล โรเจอร์ เบคอน และอับราฮัม ลิงคอล์น
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
โดย poowiang
No comments:
Post a Comment