บีร์เบิล (Birbal) หนึ่งในมณีนพเก้าแห่งราชสำนักพระเจ้าอักบาร์


ตำนานพื้นบ้านระหว่างพระเจ้าอักบาร์และบีร์เบิล เป็นเรื่องเล่าขานยอดนิยมในหมู่เด็กๆ และผู้ใหญ่จำนวนมาก เพราะให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลิน ภูมิปัญญา และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาด สมกับเป็นหนึ่งในมณีน้ำงามทั้ง 9 แห่งราชสำนักพระเจ้าอักบาร์ ซึ่งเป็น กลุ่มนักปราชญ์ผู้ทรงภูมิปัญญาเหล่านี้ต่างก็รู้จักกันในนาม นวรัตนะ (Navaratna)

บีร์เบิล (Birbal) เป็นข้าราชสำนักหนึ่งในที่ปรึกษาของพระเจ้าอักบาร์ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในด้านความฉลาดหลักแหลมและอารมณ์ขัน ซึ่งทำให้ บีร์เบิล ได้กลายเป็นพระสหายสนิทของพระเจ้าอักบาร์ เรื่องราวการสนทนาโต้ตอบกันระหว่างพระเจ้าอักบาร์และบีร์เบิลนั้นถูกบันทึกไว้ในเอกสารหลากหลายฉบับ มีหลายเรื่องในจำนวนนี้ที่ได้กลายเป็นนิทานพื้นบ้านของอินเดีย และเล่าขานสืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน

บีร์เบิล เกิดในปี ค.ศ. 1528 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐมัธยประเทศ(ปัจจุบัน) นามเดิมชื่อว่า มเหชดาส (Mahesh Das) เป็นบุตรชายของพราหมณ์ผู้ยากจนมีนามว่า ตรีวิกรรมปุระ (Trivikrampur) หรือรู้จักกันในนาม ติกะวันปุระ (Tikavanpur) มีเรื่องราวเบื้องหลังมากมายที่ทำให้ มเหชดาส กลายมาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทั้งเก้าในราชสำนักของพระเจ้าอักบาร์ และได้ชื่อใหม่ว่า บีร์เบิล ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเพียงคนเดียวที่นับถือศาสนาฮินดู ในขณะที่ส่วนใหญ่เป็นอิสลาม และเมื่อครั้งที่พระเจ้าอักบาร์ก็ทรงประกาศศาสนาใหม่ คือ ดินอิอิลาฮี (Din-i-Ilahi) บีร์เบิลก็เป็นหนึ่งในสาวกคนสำคัญในนั้นด้วย

บีร์เบิล ยังเป็นทั้งกวีและนักเขียน งานเขียนของเขาตีพิมพ์ภายใต้นามปากกา พรหม (Brahma) ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ภารัตปุระ (Bharatpur Museum) ในรัฐราชสถาน ทางตะวันตกของอินเดีย กล่าวกันว่าบีร์เบิลเสียชีวิตลง ในปี ค.ศ. 1586 ระหว่างนำทัพไปรบในอัฟกานิสถาน ตำนานยังกล่าวด้วยว่าพระเจ้าอักบาร์ทรงเศร้าโศกโทรมนัสในพระทัยและทรงไว้อาลัยให้กับบีร์เบิลเป็นเวลานานหลายเดือน

บีร์เบิล จึงเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีคนชื่นชอบมากที่สุดในนิทานพื้นบ้านอินเดีย ด้วยความฉลาดและไหวพริบของเขา ที่ให้ตัวอย่างและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน แม้ว่าเรื่องราวของบีร์เบิลจะผ่านมาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม และเราจะทยอยนำเรื่องราวการแก้ปัญหาของเขามานำเสนอเป็นตอนๆ ต่อไป

ที่มา: Seed-of-Hope
http://indian-way-of-life.blogspot.com/2013/05/birbal.html

Information courtesy:

http://www.bharatadesam.com/literature/stories_of_birbal/stories_of_birbal.php

http://www.india-intro.com/index.php

No comments:

Post a Comment